Table of Contents
ไมโครโฟนต่างๆ ที่เหมาะสำหรับบันทึกเสียง
ไมโครโฟน คืออุปกรณ์สำคัญที่ใช้บันทึกเสียง เพื่อทำคอร์สออนไลน์ มีหลายชนิดด้วยกัน ในที่นี้ผมนำมาเป็นตัวอย่างพร้อมกับการให้ข้อมูลในเบื้องต้นเท่านั้น การหาไมโครโฟนที่เหมาะกับตัวเราเองนั้น แต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับงบประมาณในการจัดซื้อ สามารถซื้อหาได้หรือไม่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการใช้ไมโครโฟนในแต่ละชนิดที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละบุคคล
นอกจากไมโครโฟนแล้ว ยังมีอุปกรณ์บันทึกเสียงเพิ่มเติมเข้ามาอีก เช่น Mixer ที่อาจจะหามาเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็มการบันทึกเสียง รวมทั้งอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับการบันทึกเสียง เช่น Pop Filter, โฟมหุ้มไมโครโฟน หรือตัวแปลงเพื่อให้บันทึกเสียงเข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง
ข้อมูลเหล่านี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้แต่ละท่านสามารถจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้งานในการทำคอร์สออนไลน์ และข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นและเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ เยอะมาก ไม่สามารถนำมาแนะนำได้หมด จึงจัดทำเพื่อเป็นตัวอย่างคร่าว ๆ
Dynamic Microphone
Dynamic Microphone หรือไมค์ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ที่ใช้ตามคอนเสิร์ต หรือตามงานวัด งานบวช หรือที่ร้องคาราโอเกะนั่นเอง ไมค์แบบนี้ ไม่ต้องใช้ไฟเลี้ยง เวลาพูดต้องพูดใกล้ ๆ เสียงไกล ๆ จะไม่ค่อยได้ยิน ทำให้มีเสียงรบกวนน้อย เหมาะสำหรับใช้ในการบันทึกเสียงในที่ ๆ มีเสียงรบกวนพอสมควร หากต้องการจะต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB จะต้องใช้ Mixer แบบ USB หรือ Mixer ธรรมดา แต่มีตัวแปลงเสียงเข้ากับคอมพิวเตอร์ หรืออาจจะใช้ตัวแปลง XLR เป็น USB ก็ได้ เช่น Blue Icicle, MXL Mic Mate หรือ Radioshack 33-331 XLR to mini USB adapter ก็ได้
ไมค์ Dynanmic ที่มี USB ในตัวที่น่าสนใจ คือ
ไมโครโฟน 2 รายการข้างบนนี้ มีการเชื่อมต่อแบบ XLR และ USB สามารถต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB ได้ แต่หากต้องการต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่าน XLR ก็สามารถทำได้ ด้วยการใช้ Mixer ที่เป็น USB เช่น Behringer Xenyx 302USB หรือ Mixer ธรรมดา แล้วต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่รับเสียงจาก Mixer แล้วแปลงเป็น USB เข้ากับคอมพิวเตอร์ หรืออาจจะใช้ตัวแปลง XLR to USB เช่น Blue Icicle หรือ Radioshack 33-331 เป็นต้น
ไมโครโฟน 2 รายการข้างบน มีความเหมือนกัน คือ
- มีการเชื่อมต่อแบบ XLR และ USB
- มีปุ่มปรับระดับเสียง
- มีรูเสียบหูฟังแจ็ค 3.5mm. เพื่อฟังเสียงสด ๆ จากไมโครโฟน (monitor) ได้
- ปรับให้เป็น sound card เพื่อฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์แทนการใช้ sound card on board ได้
ในเรื่องของการจัดซื้อไมค์ Audio Technica ATR2100 หาซื้อในเมืองไทยยาก ส่วน Samson Q2U สามารถหาซื้อได้ในเมืองไทย
ไมค์ Dynamic แบบธรรมดา
ไมค์แบบนี้มีอยู่ทั่วไป สามารถซื้อหาได้ตามห้างที่แผนกอุปกรณ์ไฟฟ้า หรืออาจจะหาซื้อแถว ๆ บ้านหมอ ก็ได้ ราคาตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาท จนถึงหลายพันบาท ถ้าใช้งานทั่ว ๆ ไปราคาไม่กี่ร้อยบาท ก็สามารถใช้งานได้พอสมควรแล้ว เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ช่อง ไมโครโฟน ก็สามารถบันทึกเสียงได้ แต่จะมีเสียงรบกวนหรือไม่มี คงต้องลองใช้งานกันดู แต่หากต้องการบันทึกเสียงเข้าคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB ก็ต้องใช้ตัวแปลง หรือ Preamp หรือ Mixer ที่มีพอร์ต USB หรืออุปกรณ์ต่อพ่วง USB
อยากได้ไมค์มาทำคอร์สออนไลน์? ไมค์แบบ Dynamic ธรรมดา กับตัวแปลง XLR to USB ยี่ห้อ RadioShack (แต่ต้องซื้อจากอเมริกา) ก็เอาอยู่แล้ว หรือจะใช้ Samson Q2U ก็หาซื้อในไทยได้ แต่ถ้าเป็น Audio Technica ATR2100 นี่ เยี่ยมเลย แต่ต้องสั่งซื้อจากอเมริกา เพราะในไทยหายาก ส่วนตัวผมใช้ ATR2100 บันทึกเสียงทำคอร์สออนไลน์ ให้เสียงที่พอใจมาก ๆ ส่วน Dynamic ธรรมดากับ Radioshack นี่ผมก็ใช้อยู่บ้างทำคลิปขึ้น youtube ก็ให้เสียงอีกแบบหนึ่งที่มีคุณภาพ
Condenser Microphone
Condenser Microphone เป็นไมค์ที่มีความไวเสียง บันทึกเสียงไกล ๆ ก็ได้ยิน เหมาะสำหรับการบันทึกเสียงในที่ที่เงียบ เช่น Studio เพราะแม้เสียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะได้ยิน ไม่เหมาะกับการบันทึกเสียงในที่ ๆ มีเสียงรบกวน หรืออยู่ใกล้ ๆ ถนน มีรถวิ่งไปมา ไมค์ชนิดนี้จะมี 2 แบบคือ แบบ XLR และแบบ USB จะต้องใช้ไฟเลี้ยงหรือที่เรียกว่า Phantom Power แต่หากเป็นรุ่นที่เป็น USB สามารถต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB ได้นั้น ก็ใช้ไฟจาก USB ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่ม แต่หากเป็นไมค์แบบ XLR จะต้องใช้อุปกรณ์จ่ายไฟเพิ่ม ถ้าใช้กับ Mixer ก็จะมีการจ่ายไฟให้อยู่แล้ว (ต้องเปิด Phantom power) ก็ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติม หรือหากใช้กับตัวแปลง XLR to USB Adapter ที่ไม่มีไฟเลี้ยง ก็ต้องหา Phantom power มาช่วย
เช่น มีไมค์ Condenser ที่เป็นแบบ XLR เมื่อเสียบสายแล้ว นำสายปลายทางที่เป็นแจ็ค 3.5mm. ไปเสียบกับคอมพิวเตอร์ช่องไมโครโฟน แบบนี้ ใช้ไม่ได้ครับ บันทึกเสียงไม่ได้ (แต่ถ้าเป็นไมค์ Dynamic ทำแบบนี้ได้) ต้องใช้ Phantom power จ่ายไฟก่อน ถึงจะใช้ได้ คือ ต้องมี Phantom Power อยู่ตรงกลางระหว่างไมค์กับคอมพิวเตอร์ ถึงจะใช้งานได้
ไมค์ Condenser ที่มีการเชื่อมต่อแบบ USB
ไมค์ Condenser ที่มีการเชื่อมต่อแบบ XLR
ใช้ไมค์ Condenser ต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีใดบ้าง? ถ้าเป็นแบบที่เป็น USB ก็เชื่อมต่อได้ทันที แต่ถ้าเป็นแบบ XLR ทำได้หลายวิธีดังนี้
- ต่อเข้ากับตัวแปลง XLR to USB ที่มี Phantom Power ในตัว เช่น Blue Icicle, MXL MicMate แล้วต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง
- ต่อเข้ากับตัวแปลง XLR to USB ที่ไม่มี Phantom Power ในตัว เช่น Radioshack 33-331 หรือสายแปลง XLR to USB แบบนี้ จะต้องมีตัว Phantom Power อยู่ระหว่างไมค์และตัวแปลง แล้วต่อจากตัวแปลงไปเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB
- ใช้ Mixer USB ที่มีการจ่าย Phantom Power แล้วเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ด้วยพอร์ต USB
- ใช้ Mixer ธรรมดา ที่มีการจ่าย Phantom Power แต่ไม่มีการเชื่อมต่อแบบ USB ก็ให้ใช้ตัว USB/Audio Interface เช่น Behringer UCA202 เข้ามาช่วยในการนำเสียงจาก Mixer เข้าคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB
USB/Audio Interface : Behringer UCA202
Audio Interface นี่ก็เหมือนกับ Sound card นั่นแหล่ะ แต่ใช้พอร์ต USB นำเสียงเข้าและออกจากคอมพิวเตอร์ เช่น ใช้ทำหน้าที่เป็น Sound card แทนที่จะนำแจ็คเสียบหูฟังไปเสียบกับคอมพิวเตอร์ ก็มาเสียบกันอุปกรณ์นี้ก็ได้ (ตั้งค่าให้เสียงคอมพิวเตอร์ออกมายังอุปกรณ์นี้) มี Mixer ที่ไม่มีพอร์ต USB ต้องการนำเสียงจาก Mixer เข้าคอมพิวเตอร์ ก็ใช้อุปกรณ์นี้ช่วย หรือต้องการแปลงเทปเข้าคอมพิวเตอร์เป็น .mp3 ก็ใช้ตัวนี้ต่อช่วยนำเสียงจากเครื่องเล่นเทป เข้าบันทึกเสียงในคอมพิวเตอร์ก็ได้ เป็นต้น
ไมค์เหน็บเสื้อ
ไมค์เหน็บ ฝรั่งเรียกว่า Lapel หรือ Lavalier มีทั้งแบบมีสายและไร้สาย บางตัวก็ต้องใช้ไฟเลี้ยงด้วย บางตัวก็ไม่ต้องใช้ ต่อสามารถต่อกับสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Andriod ช่วยให้บันทึกเสียงเข้าสมาร์ทโฟน ที่ให้เสียงดีกว่าใช้ไมค์ในตัว
การใช้งานก็นำมาเหน็บกับเสื้อ ทำให้เสียงที่ได้มีคุณภาพ เรามักจะเห็นไมค์แบบนี้อยู่กับพิธีกรต่าง ๆ ตามโทรทัศน์ แต่ก็สามารถนำมาใช้กับการถ่ายวีดีโอ หรือการทำคอร์สบันทึกเสียงในคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน
ไมค์เหล่านี้ สามารถนำมาบันทึกเสียงร่วมกับงานวีดีโอทำคอร์สได้ คือ บันทึกเสียงเข้าสมาร์ทโฟนขณะบันทึกวีดีโอ เมื่อนำไปตัดต่อ ก็ใช้เสียงจากสมาร์ทโฟน จะให้เสียงที่ชัดกว่าการใช้ไมค์จากกล้องวีดีโอ ก็ช่วยให้วีดีโอนั้นมีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น
อุปกรณ์แปลง XLR เป็น USB
เป็นอุปกรณ์สำหรับแปลงการเชื่อมต่อกับไมโครโฟนแบบ XLR เป็น USB ทำให้บันทึกเสียงเข้าคอมพิวเตอร์โดยตรงผ่านพอร์ต USB บางรุ่นก็ไม่มี Phantom power ในตัว ทำให้ใช้ได้เฉพาะกับไมค์แบบ Dynamic เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับไมค์แบบ Condenser ได้ หากจะใช้กับไมค์ Condenser ก็จะต้องหา Phantom Power มาจ่ายไฟให้
บางรุ่นก็มี Phantom Power ในตัว สามารถใช้ได้กับไมค์ทั้งแบบ Dynamic และ Condenser
จากตัวอย่างอุปกรณ์ที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ 2 รายการแรกคือ MXL MicMate และ Blue Icicle มี Phantom Power ในตัว ใช้ได้ทั้งไมค์ Dynamic และ Condenser ส่วนอีก 2 รายการคือ RadioShack 33-331 และ HDE 10 feet/3m XLR Female to USB 2.0 Cable - Black นั้น ไช้ได้เฉพาะไมค์ Dynamic เท่านั้น แต่หากจะใช้กับไมค์ Condenser จะต้องมี Phantom Power เข้ามาจ่ายไฟ ถึงจะใช้ได้
การต่อตัวแปลงที่ไม่มี Phantom Power กับไมค์ Condenser นั้น ต้องหา Phantom Power มา แล้วต่อสายจากไมค์ ไปยังช่อง Input ของ Phantom Power และต่อสายจาก Output ของ Phantom Power ไปเข้ากับตัวแปลง ซึ่งตัวแปลงจะมีสาย USB อยู่แล้วก็นำพอร์ต USB ไปเสียบกับคอมพิวเตอร์ ก็จะทำให้สามารถบันทึกเสียงจากไมค์ Condenser เข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านตัวแปลง USB ได้แล้ว
การต่อตัวแปลงเข้ากับไมค์ Dynamic ก็อาจจะนำตัวแปลงไปเสียบกับไมค์ แล้วเสียบสาย USB เข้ากับตัวแปลง ส่วนพอร์ต USB อีกด้านก็นำไปเสียบกับพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ หรือ อาจจะใช้สายแบบ XLR เพิ่มก็ได้ คือ นำสาย XLR ที่มีทั้งแบบตัวผู้และตัวเมียไปเสียบที่ไมค์ และอีกด้านไปเสียบกับตัวแปลง และต่อสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์อย่างนี้ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก
สำหรับท่านที่มีไมโครโฟน Dynamic อยู่แล้ว และต้องการบันทึกเสียงเข้ากับคอมพิวเตอร์ ก็ใช้ตัวแปลงเหล่านี้ เพื่อบันทึกเสียงเข้าคอมพิวเตอร์ โดยที่ใช้งบไม่มาก ส่วนตัวผมมีไมค์ Dynamic อยู่แล้ว และใช้ตัวแปลง Radioshack เพื่อบันทึกเสียงเข้ากับคอมพิวเตอร์ เสียงที่ได้มีคุณภาพและใช้งบไม่ถึง 1,000 บาท ช่วยประหยัดกว่าการใช้ไมค์ Dynamic ที่เป็นแบบ XLR และ USB ถึง 3 เท่า
Mixer USB
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ผสมเสียง และสามารถต่อกับไมค์เพื่อบันทึกเสียงเข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB ได้ สามารถนำเสียงจากไมค์และเสียงจากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาผสมกันได้ ใช้ได้กับไมค์ทั้งแบบ Condenser และแบบ Dynamic สามารถทำเป็น Sound card ก็ได้ คือ ฟังเสียงคอมพิวเตอร์จาก Mixer แทนการใช้ลำโพงจาก Sound card onboard ได้ สามารถ monitor เสียงจากไมค์ได้ บันทึกเสียงจากไมค์และจากคอมพิวเตอร์พร้อมกันได้ สำหรับ Windows XP ที่ไม่รองรับการบันทึกเสียงจากไมค์และจากคอมพิวเตอร์พร้อมกันได้
ข้อดีสำหรับการใช้ Mixer USB สามารถปรับ gain และ mic volumn ได้ ทำให้เราสามารถเร่งเสียงของไมค์ให้ดังหรือเบา ได้ตามต้องการ ปรับ EQ ของไมค์ และของเสียงได้ ในการบันทึกเสียง หากใช้ Mixer ร่วมกับไมค์ และมีการเปิดเพลง เพื่อทำการบันทึกเสียง ขณะพูด เราสามารถหรี่เสียงเพลงให้เบาลง เพื่อให้เสียงพูดได้ยินชัดเจน เมื่อหยุดพูด ก็เร่งเสียงเพลงให้ดังเหมือนเดิมได้
Mixer รุ่นที่แนะนำนี้ สามารถหาซื้อได้ในไทย และคุณภาพดี เป็นรุ่นที่ผมมีใช้อยู่ ติดตั้งไดรเวอร์ด้วย จะทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รุ่นนี้มี Phantom Power ในตัว แต่ไม่มีปุ่มปิด/เปิด Phantom Power ใช้กับไมค์ได้ทั้งแบบ Condenser และ Dynamic ได้ไม่มีปัญหา
Behringer Xenyx 302USB
ตัวอย่างการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ
Mixer USB เหมาะสำหรับผู้ใช้ทั่วไปไหม? โดยรวมแล้วอาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำไปกับการซื้อหามาใช้ แต่หากคุณต้องการแปลกใหม่ เรียนรู้อุปกรณ์เกี่ยวกับบันทึกเสียง สร้างประสบการณ์ใหม่ หรือต้องการใช้งานบันทึกเสียงทั้งไมค์แบบ Dynamic และ Condenser ตัวนี้ก็เหมาะสมกับราคา แต่ถ้าต้องการแค่อุปกรณ์บันทึกเสียงทำคอร์สออนไลน์ ในราคาไม่แพง ไมค์ Dynamic กับตัวแปลง Radioshack ก็เอาอยู่แล้วครับ
Phantom Power
เป็นตัวจ่ายไฟให้กับไมค์ Condenser (ไมค์ Dynamic ไม่ต้องใช้) กรณีที่การเชื่อมต่อนั้น ๆ ไม่มีการจ่ายไฟให้กับไมค์
อุปกรณ์จ่ายไฟ (Phantom Power) มีดังนี้
ตัวอย่างการต่อ Phantom Power
การเชื่อมต่อ Phantom Power เพียงต่อสายจากไมค์ ไปเข้า Input ของ Phantom Power และต่อสายจาก Output ของ Phantom Power ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง เช่น ตัวแปลง XLR to USB เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะสามารถใช้ไมค์ Condenser ในการบันทึกเสียงได้แล้ว
สำหรับ Mixer ส่วนใหญ่แล้วจะมี Phantom Power ในตัว ในการใช้กับไมค์ Condenser ก็เพียงเปิด Phantom Power ก็ใช้งานได้แล้ว หรือใน Mixer USB บางรุ่น (Behringer Xenyx 302USB) ก็มี Phantom Power ในตัว แต่ไม่มีปุ่มเปิด/ปิด Phantom Power การใช้งานก็เพียงต่อไมค์เข้ากับ Mixer ก็สามารถใช้งานได้ทันที ทั้งไมค์แบบ Dynamic และ Condenser
จากประสบการณ์ ผมไม่เคยใช้ตัว Phantom Power เลย เพราะใช้ไมค์ Condenser กับ Mixer USB ที่มี Phantom Power ในตัว ก่อนซื้อไมค์ Condenser มาใช้ ควรพิจารณาในเรื่องการใช้งานด้วยว่า เราจำเป็นไหม และต้องใช้อุปกรณ์อะไรเพิ่มบ้าง มีตัวจ่าย Phantom Power ไหม หรือต้องซื้อเพิ่ม หรือจะหันไปใช้ Condenser แบบ USB ดี ที่จะประหยัดงบกว่า ก็ลองนำไปพิจารณาก่อนที่จะซื้อมาใช้
อุปกรณ์เสริมในการบันทึกเสียง
อุปกรณ์เสริมช่วยในการบันทึกเสียง เพื่อให้เสียงที่ได้มีคุณภาพและยังเพิ่มความสะดวกในการบันทึกเสียงอีกด้วย มีหลายอย่างด้วยกัน
ขาตั้งไมค์
ขาตั้งไมค์ ช่วยในการจับไมค์ ทำให้เราไม่ต้องจับไมค์เวลาพูด ตั้งไว้หน้าคอมพิวเตอร์ บรรยายได้สะดวก ปรับตำแหน่งให้เหมาะสม ขาตั้งไมค์มีหลายรูปแบบ ลองไปเดิน ๆ ดูก่อนตัดสินใจซื้อ เลือกที่เหมาะสมกับเรา หากซื้อมาสั้นเวลาเสียบไมค์แล้วมันจะเอียง ก็อาจจะหาถุงใส่หนังสือ หรือใส่ของถ่วงเอาไว้ เพื่อให้มันสมดุล ไม่เอียงจนเกินไป เพราะหากเอียงมาก ๆ อาจจะทำให้ล้ม และไมค์เกิดความเสียหายได้
การใช้ไมค์ หากวางบนโต๊ะเดียวกับคอมพิวเตอร์ เวลาพิมพ์ หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่พัดลมใหญ่ๆ อาจจะเกิดการสั่นสะเทือน มีผลทำให้เกิดเสียงรบกวนขึ้นได้ ทางแก้ก็คือ อาจจะใช้ shock mount เข้ามาช่วย หรืออาจจะใช้ผ้ารองฐานขาตั้งไมค์ เพื่อซับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น จะทำให้เสียงรบกวนมีน้อยลงไปได้
ขาตั้งไมค์แบบพับงอได้
เป็นขาตั้งไมค์ที่พับงอได้ ใช้หนีบกับโต๊ะแล้วปรับระดับของไมค์ เพื่อให้พอดีกับตำแหน่งที่ต้องการ เพิ่มความสะดวกและประหยัดพื้นที่ในการจัดวาง
Pop Filter
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กั้นระหว่างผู้ร้อง ผู้บันทึกเสียงและไมโครโฟน ที่จะช่วยให้ลดเสียงลมที่จะไปกระทบกับไมค์ หรือที่เรียกว่า เสียง Pop เช่น เสียง P หรือเสียง S ทำให้เสียงมีคุณภาพ หรือป้องกันน้ำลายที่จะกระเด็นไปกระทบกับไมค์ ทำให้ไมค์สกปรกหรือเสื่อมคุณภาพลง
ภาพจาก wikimedia.org
ฟองน้ำหุ้มไมค์
Shockmount
เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยลดการสั่นสะเทือนไปถึงไมค์ ที่จะมีผลกระทบต่อเสียง
รูปไมโครโฟนกับ Shock mount
ภาพประกอบจาก Amazon.com และ gearslutz.com
ฝรั่งที่ทำคอร์สนิยมไมโครโฟนรุ่นไหน?
เท่าที่ดูฝรั่งคุยกันในกลุ่ม Udemy Studio ใน Facebook ก็แนะนำกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไมค์ Dynamic, Condenser รวมทั้งไมโครโฟนแบบเหน็บ (Lapel Microphone) แต่ถ้าหลัก ๆ ที่นิยมแนะนำกันก็คือ
- Dynamic Microphone ยี่ห้อ Audio Technica ATR2100
- Condenser Microphone ยี่ห้อ Blue Yeti
ตัวอย่างไมค์ที่ใช้งานจริง?
ส่วนตัวที่ผมใช้ไมค์ Audio Technica ATR2100 ในการทำคอร์ส ไมค์นี้ให้เสียงที่ดีมาก ๆ เสียงชัดเจน ทุ้ม ๆ ไม่มากนัก ฟังแล้ว ให้เสียงที่คมชัด น่าฟัง ด้วยความที่เป็นไมค์แบบ Dynamic ทำให้รับเสียงรบกวนได้น้อย ทำให้เสียงรบกวนต่าง ๆ มีไม่มากนัก ตัดเสียงรบกวนนิดหน่อย ก็ทำให้เสียงเงียบดี สำหรับคอร์สที่ใช้ไมค์รุ่นนี้ในการบันทึกเสียง นั่นคือ Audacity สำหรับผู้เริ่มต้น" สามารถฟังเสียงตัวอย่างได้จากคลิปที่มี Preview