Table of Contents
ข้อมูลที่น่ารู้ใน udemy
ทำคอร์สขายใน udemy แล้วสามารถนำไปขายที่อื่นได้หรือไม่ ?
ทำได้ ไม่ว่าจะขายในที่ไหนก็ตาม เพราะลิขสิทธิ์เป็นของผู้สร้างคอร์ส แต่ห้ามนำไปปล่อยฟรี ให้ดูกันฟรี ๆ
ทำคอร์สฟรี แล้วได้อะไร ?
จะว่าฟรี ก็ไม่เชิง บางครั้งเป็นเรื่องของการตลาด ทำคอร์สฟรี อย่างน้อยก็จะได้ผู้เรียนกลุ่มหนึ่ง ที่หากเราสอนดี ผู้เรียนก็ตัดสินใจง่ายในการเรียนคอร์สต่อ ๆ ไปของผู้สอนเอง ในส่วนโบนัสพิเศษ ผู้สอนก็สามารถแจกคูปองส่วนลดเรียนในคอร์สอื่น ๆ ได้ การที่มีฐานผู้เรียนระดับหนึ่ง สามารถประกาศข้อมูลข่าวสารไปยังผู้เรียนกลุ่มนี้ได้ เช่น โฆษณาคอร์สใหม่ แบบลดราคาด้วยคูปอง ทำให้ผู้สอนได้ค่าคอร์สสูงถึง 97% ด้วยกัน
Premium Instructor คืออะไร ?
คือผู้สอนที่สามารถจะขายคอร์สได้ เมื่อเราเข้าสู่ Udemy ด้วยอีเมลหรือ Facebook เราก็เป็นสมาชิกของ Udemy แล้ว สามารถเข้าถึงคอร์สที่เราซื้อได้ และสามารถสร้างคอร์สได้ แต่จะไม่สามารถขายคอร์ส หรือเก็บเงินค่าคอร์สได้ จนกว่าจะเป็น Premium Instructor คือ ป้อนข้อมูลใน profile ต่าง ๆ ให้เรียบร้อย ใส่รูปภาพ ประวัติส่วนตัว ที่อยู่ รวมทั้งบัญชี paypal สำหรับรับรายได้ เมื่อทางทีมงาน Udemy ตรวจสอบข้อมูล และอนุมัติแล้ว เราก็จะกลายเป็น Premium Instructor ที่สามารถสร้างคอร์สแบบเก็บเงินได้แล้ว
เพิ่มผู้สอนที่ไม่ใช่ premium ในคอร์สได้หรือไม่ ?
สามารถเพิ่มผู้สอนในคอร์สได้ แม้ผู้นั้นจะไม่ใช่ Premiun Instructor ก็ตาม สามารถให้แสดงชื่อในรายการผู้สอนได้ สามารถแก้ไขคอร์สได้ แต่จะไม่สามารถรับส่วนแบ่งรายได้จากคอร์สได้ คือ ส่วนแบ่งจะต้องเป็น 0 เท่านั้น เว้นแต่เป็น Premium Instructor แล้วถึงจะเปลี่ยนตัวเลขเพื่อรับส่วนแบ่งรายได้ได้
รวมหลายคอร์สเป็นคอร์สเดียว ทำได้ไหม ?
ใน udemy สามารถรวมคอร์สในเรื่องเดียวกันหลาย ๆ คอร์ส เป็นคอร์สเดียวกันได้ เช่น สอน Microsoft Word 3 คอร์ส ๆ ละ $20 สามารถสร้างคอร์สที่ 4 โดยรวมเนื้อหาจาก 3 คอร์ส รวมเป็นคอร์สเดียว และคิดราคา $50 ได้
การลดราคาด้วยคูปองเป็นอย่างไร ?
การลดราคาด้วยคูปอง จะทำให้ผู้เรียนสามารถซื้อคอร์สได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ udemy อนุญาตให้ลดราคาสูงสุดเหลือเพียง 50% เท่านั้น (นับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 59 เป็นต้นไป) แต่ยังคงสามารถออกคูปองเพื่อชมฟรีได้ การใช้คูปอง อาจจะต้องป้อนคูปองเพื่อลดราคาเอง หรือ ผู้สอนแจกลิงก์คอร์สพร้อมคูปองมาด้วย กรณีนี้ ผู้เรียนแค่คลิกลิงก์ ก็สามารถซื้อคอร์สได้ในราคาที่ลดตามคูปองแล้ว เมื่อผู้เรียนสมัครเรียนผ่านคูปอง ผู้สอนจะได้รับรายได้ถึง 97% จากค่าคอร์สที่ผู้เรียนสมัครเรียน
เช่น ราคาคอร์ส $50 แต่หากสมัครเรียนผ่านคูปอง จะเหลือเพียง $25 (คูปองลด 50%) เมื่อผู้เรียนสมัครเรียน ผู้สอนจะได้รับรายได้ 97% ของยอด $25 ที่ผู้เรียนสมัครเรียนผ่านคูปอง
การอัพโหลดไฟล์
การอัพโหลดไฟล์สู่ udemy ทำได้สองทางด้วยกัน คือ
- อัพโหลดผ่านเบราเซอร์ อัพได้ทีละไฟล์ไปยัง lecture โดยตรง
- อัพโหลดผ่าน Udemy Uploader อัพโหลดต่อเนื่องกันได้ครั้งละหลาย ๆ ไฟล์ อัพโหลดไปแล้ว รายชื่อไฟล์จะอยู่ใน Library และหากไฟล์ใด มีการเพิ่มไปยัง Lecture แล้ว รายการไฟล์นั้นก็จะหายไปจาก Library และหากมีการลบ Lecture ใดก็ตาม ไฟล์ของ Lecture นั้นๆ จะไปปรากฏอยู่ใน Library เพื่อรอการแนบไปกับ Lecture อื่นต่อไป
ชื่อไฟล์เมื่ออัพโหลด
- อัพโหลดผ่านเว็บ ชื่อไฟล์ต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้าไปจะยังคงปกติ เช่น ไฟล์ 08-03-audacity-bass-treble.mp4 ก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
- อัพโหลดผ่าน Udemy Uploader ชื่อไฟล์ที่มี - จะถูกลบหายไป เช่น 08-03-audacity-bass-treble.mp4 จะเหลือเพียง 0803audacitybasstreble.mp4
รูปแบบคอร์สมีกี่อย่าง
รูปแบบคอร์สในที่นี่หมายถึง รูปแบบการเผยแพร่บน udemy จะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกันคือ
- Public เป็นคอร์สที่ใคร ๆ ก็สามารถสมัครเรียนได้ คอร์สแบบนี้ จะปรากฏอยู่ในระบบค้นหาของ udemy คือ หากค้นในระบบค้นหาของ udemy ก็จะเจอคอร์ส คอร์สแบบนี้ สามารถกำหนดเป็นแบบคอร์สฟรี หรือเก็บเงินก็ได้
- Private เป็นคอร์สที่ไม่ปรากฏในระบบค้นหาของ udemy การจะเข้าถึงคอร์สได้ ก็จะต้องเข้าโดยตรงผ่าน url ของคอร์ส คอร์สแบบนี้เหมาะสำหรับการสอนเฉพาะกลุ่ม หรือเป็นการภายในเท่านั้น และในรูปแบบ private นี้ก็ยังแบ่งออกเป็นอีก 2 แบบด้วยกันคือ
- Invitation Only ส่ง url ไปให้ผู้เรียน เมื่อผู้เรียนสมัครเรียน จะมีข้อความแจ้งไปยังผู้สอน ผู้สอนอนุมัติก็จะเข้าเรียนได้
- Password Protected ส่ง url ไปให้ผู้เรียน ผู้เรียนป้อนรหัสผ่านตามที่ผู้สอนตั้งไว้ ก็จะสามารถเข้าเรียนได้
udemy ฟรีไหม?
Udemy เป็นเว็บแพลตฟอร์มการสอนออนไลน์ที่เปิดกว้างสำหรับทุก ๆ คน สามารถเข้าไปสร้างคอร์ส เปิดคอร์สสอนได้ โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย พูดง่าย ๆ ก็คือ ฟรีนั่นแหล่ะ โดยผู้สอน สามารถเปิดคอร์สสอนแบบฟรี หรือเก็บเงินก็ได้ แต่หากต้องการเก็บเงิน คุณจะต้องเป็นผู้สอนแบบพรีเมี่ยมหรือ Premium Instructor ที่ต้องป้อนข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งบัญชี paypal ด้วย และได้รับการอนุมัติแล้ว
และหากไม่มีบัญชี paypal ก็สามารถสอนได้ เพียงแต่ไม่สามารถจะทำคอร์สแบบเก็บเงินได้เท่านั้นเอง ในการสอน นอกจากการเปิดสอนแบบฟรีแล้ว ก็สามารถตั้งค่าคอร์สเป็นแบบ Private ก็ได้ คือสอนเฉพาะกลุ่ม เปิดคอร์สแต่ให้ผู้เรียนป้อนรหัสผ่านถึงจะเข้าเรียนได้ หรืออีกแบบหนึ่งก็คือ การเชื้อเชิญคนมาเรียนคอร์ส แล้วเราก็อนุมัติให้เขาเข้าเรียนได้ คอร์สแบบ private เป็นการทำคอร์สสอนเฉพาะกลุ่ม ทาง udemy เขาไม่ยุ่งอะไรกับเราเลย เราสามารถทำคอร์สสอนเฉพาะเพื่อน ๆ ก็ได้
ดังนั้น หากคุณไม่คิดจะทำคอร์สเก็บเงิน คุณก็สามารถทำคอร์สได้ฟรี เพียงแต่เป็นสมัครชิกของ udemy ด้วยการเข้าสู่ระบบด้วย facebook หรือเข้าสู่ระบบด้วยอีเมล์ที่ได้ลงทะเบียน เมื่อเป็นสมาชิกแล้วก็สามารถสร้างคอร์สได้แล้ว เพียงแต่การทำคอร์สของที่นี่ จะมีการตรวจสอบคุณภาพ (แล้วแต่คอร์สว่าเป็นแบบสาธารณะหรือส่วนตัว) มีขั้นตอน แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เมื่อผ่านทุกขั้นตอนก็สามารถเป็นเจ้าของคอร์สออนไลน์ได้แล้ว
คอร์สออนไลน์แล้ว แก้ไขเพิ่มเติมได้ไหม?
คอร์สที่ออนไลน์ไปแล้ว สามารถแก้ไขเพิ่มเติม หรืออัพเดทข้อมูลต่าง ๆ ได้ปกติในภายหลัง เช่น อาจจะแก้ไขวีดีโอ ก็อัพโหลดไปแทนที่คลิปเดิม หรือ จะเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไปในคอร์สอีก ก็ทำได้ไม่มีปัญหา
อยากให้บทเรียน (lecture) ดูฟรี (preview ต้องทำอย่างไร?
เพิ่มบทเรียนเข้าไป แล้วก็ทำการเผยแพร่บทเรียน ก็จะมีตัวเลือกให้เลือกได้ว่า จะ Preview หรือไม่ ถ้า Preview เป็น On ผู้ชมก็สามารถชมคลิปนั้นได้ แม้ไม่ได้เป็นผู้เรียนคอร์ส คือเป็นการให้ผู้ชมได้ชมคลิปตัวอย่างของคอร์ส ที่อาจจะส่งผลให้ตัดสินใจเรียนได้ง่ายขึ้น
วีดีโอตัวอย่าง หรือ video test จำเป็นไหม?
จะว่าจำเป็นก็ได้ หรือไม่จำเป็นก็ได้ แต่ควรทำสำหรับการทำคอร์สครั้งแรกบน Udemy เพื่อให้ทาง udemy ตรวจสอบคุณภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคมชัดของวีดีโอ วีดีโอตรงตามข้อกำหนดไหม เสียงมีคุณภาพดีไหม เสียงก้องไหม เสียงชัดไหม มีเสียงรบกวนมากไหม เหล่านี้เป็นต้น หากยังไม่มั่นใจก็ต้องทำส่ง เพื่อให้ทาง udemy ตรวจสอบ หากไม่ทำเลย แม้ทำคอร์สครั้งแรก หากทำจบคอร์ส เมื่อทาง udemy ตรวจคุณภาพแล้วไม่ผ่าน จะต้องรื้อคอร์สทำใหม่ทั้งหมด ทำให้เสียเวลาเริ่มต้นกันใหม่ ดังนั้นหากทำคอร์สครั้งแรก ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
และเมื่อเข้าใจความต้องการของ udemy ในเรื่องคุณภาพของวีดีโอแล้ว ในคอร์สต่อ ๆ ไปก็ไม่ต้องส่งก็ได้ เพียงแต่ทำตามขั้นตอนต่าง ๆ การตั้งค่าต่าง ๆ ในการทำคอร์สที่คุณเคยทำผ่านมาในคอร์สแรก ก็ไม่มีปัญหาแล้วครับ
ออกแบบหน้าปกคอร์สไม่เป็น ทำอย่างไรดี?
ไม่ต้องกังวลในขั้นตอนนี้จนทำให้ไม่อยากทำคอร์ส เพราะใน udemy เขามีบริการฟรี ออกแบบหน้าปกคอร์สให้เราฟรี ๆ เพียงแต่กำหนดรูปแบบตัวเลือกของภาพหน้าปกคอร์สตามที่เราต้องการ แล้วส่งคำร้องขอไปพร้อมกับตอนส่งคอร์สให้ทางทีมงานตรวจสอบ เขาก็จะออกแบบให้พร้อม ๆ (มีทีมงานออกแบบหน้าปกคอร์ส) กับการตรวจสอบคอร์ส เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย คอร์สก็จะออนไลน์พร้อมกับภาพหน้าปกคอร์ส
จากประสบการณ์ ผมส่งคอร์สให้ตรวจสอบพร้อมกับออกแบบภาพหน้าปก ก่อน 22.00 น. พอรุ่งเช้าตอน 7.00 น. คอร์สก็ออนไลน์พร้อมกับหน้าปกคอร์สที่ทางทีมงานออกแบบให้แล้ว
ดู url ของคอร์สอย่างไร?
ไปที่หน้าควบคุมคอร์ส แล้วคลิกปุ่ม Preview เลือก As Guest เบราเซอร์จะเปิดไปที่หน้า Landing page ของคอร์ส url ที่ตัด ?instructorPreviewMode=guest ออก คือ url ของคอร์สของเราเอง เช่น url เมื่อเลือก As Guest คือ https://www.udemy.com/audacity-for-beginners/?instructorPreviewMode=guest เมื่อตัด ?instructorPreviewMode=guest ออก ก็จะได้ url ของคอร์สคือ https://www.udemy.com/audacity-for-beginners/
เมื่อคอร์สออนไลน์แล้ว เปลี่ยน promo video/ภาพคอร์ส ได้ไหม?
หลังจากที่คอร์สได้มีการเผยแพร่หรือออนไลน์ไปแล้วนั้น ผู้สอน สามารถจะเปลี่ยนหรืออัพเดท Promo video และ ภาพปกคอร์สได้ตลอด เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง และทำให้ผู้ชมเห็นว่า เรามีความใส่ใจต่อคอร์สและมีการปรับปรุงข้อมูลอยู่เสมอ ๆ
url ของคอร์ส เมื่อตั้งไปแล้ว สามารถเปลี่ยนในภายหลังได้หรือไม่ ?
url ของคอร์สนั้น เมื่อตั้งไปแล้ว (ตอนส่งคอร์สให้ทาง udemy ตรวจสอบ – submit for review) ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก ดังนั้น ตอนตั้งชื่อคอร์ส ให้ตรวจสอบความถูกต้องต่าง ๆ ให้ดีก่อนส่งข้อมูลให้ทาง udemy
ชื่อของคอร์ส เมื่อตั้งไปแล้ว สามารถเปลี่ยนในภายหลังได้หรือไม่ ?
ชื่อของคอร์ส เมื่อตั้งไปแล้ว สามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนในภายหลังได้
คอร์สฟรี ต้องมี preview ไหม ?
ปกติคอร์สที่เก็บเงิน จะต้องมี preview หรือตัวอย่างให้ดูฟรีไม่ต่ำกว่า 10 นาที แต่กรณีที่เป็นคอร์สฟรี ไม่ต้องมี preview
แนบวีดีโอไปแล้ว ต้องการแก้ไข ทำอย่างไร ?
ใน udemy เมื่ออัพโหลดวีดีโอขึ้นไปแล้ว ถ้าวีดีโอยังไม่ได้แนบกับบท (lecture) ใด วีดีโอก็จะอยู่ใน Library แต่หากแนบไปกับบทใด ก็จะหายไปจาก Library หรือ หากไม่ได้ใช้ ก็จะกลับมาแสดงรายชื่อไฟล์ใน Library การแก้ไขวีดีโอที่ได้อัพโหลดไปแล้ว ก็คือ แก้ไขวีดีโอแล้วอัพใส่ Library จากนั้น เข้าไปแก้ไขใน lecture ที่ต้องการ แล้วไปเลือกวีดีโอจาก Library เข้าไปแทนที่คลิปเดิม ตอนนี้ก็คือว่า เป็นการแก้ไขสำเร็จแล้ว ส่วนคลิปเดิม ที่ไม่ได้ใช้ ก็จะกลับไปแสดงใน Library แทน โดยสังเกตได้จากวันที่ของวีดีโอที่อัพโหลดเข้าไป จะแตกต่างกัน