การสร้างฐานข้อมูล

ต่อไปเป็นการสร้างฐานข้อมูล เพื่อให้ WordPress ใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ การสร้างนั้นให้พิมพ์ที่เบราเซอร์ http://localhost/phpmyadmin ถ้าเข้าไม่ได้ แสดงว่า คุณอาจจะไม่ได้เปิดให้เครื่องเป็น Web Server ดังนั้นให้ย้อนกลับไปดูที่โปรแกรมสำหรับจำลองเครื่องให้เป็น Web Server ของคุณ ให้เปิดการทำงานเสียก่อน

phpmyadmin01

หากใช้ XAMPP ก็จะเห็นหน้าเว็บของ phpMyAdmin เลย แต่หากใช้ AppServ นั้น จะปรากฏกรอบให้ป้อนข้อมูล ในช่อง User name ให้ป้อน root ในช่อง Password นั้น ให้ป้อนรหัสผ่านตามที่ได้ตั้งไว้เมื่อครั้งติดตั้ง AppServ แล้วคลิกปุ่ม OK

phpmyadmin02

เมื่อปรากฏหน้าเว็บ phpMyAdmin แล้ว ในช่องใต้ “สร้างฐานข้อมูลใหม” นั้น ให้ป้อนชื่อฐานข้อมูลที่คุณกำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ ในตัวอย่างนี้ผมตั้งชื่อ “blog” เพื่อให้จำง่ายและใช้งานสำหรับบล็อก ในช่องด้านล่างนั้น ให้เลือกเป็น “utf8_unicode_ci” แล้วคลิกปุ่ม “สร้าง” เพื่อสร้างฐานข้อมูลใหม่ การเลือก “utf8_unicode_ci” ในช่องด้านล่างชื่อบล็อกนั้น จะปล่อยว่างไว้ก็ได้ (คือมีคำว่า “การเรียงลำดับ”)

phpmyadmin03

เมื่อสร้างฐานข้อมูลเสร็จแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ phpMyAdmin อีกแล้ว เพราะในส่วนของข้อมูลต่าง ๆ WordPress จะสร้างให้ขณะที่ทำการติดตั้ง

การดาวน์โหลดและการขยายไฟล์

การดาวน์โหลดไฟล์ของ WordPress มาติดตั้งบล็อกในเครื่องของเรา ให้ไปดาวน์โหลดที่ http://www.wordpress.org/download โดยด้านบนของหน้าเว็บ จะแสดงหมายเลขรุ่นล่าสุด

download-extract-01

คลิกที่ปุ่ม Download .ZIP แล้วดาวน์โหลดเก็บไว้ในเครื่อง

download-extract-02

เปิดโปรแกรมบีบอัดข้อมูลเช่น WinRAR, WinZip หรือโปรแกรมอื่น ๆ ที่คุณใช้อยู่ เปิดไฟล์ที่ได้ดาวน์โหลดมา เพื่อขยายข้อมูล ในตัวอย่างนี้ เปิดโปรแกรม WinRAR ขึ้นมา แล้วเลือกไฟล์ที่ดาวน์โหลดมา คลิกปุ่ม Extract to เพื่อขยายไฟล์ไปยังโฟลเดอร์ที่ต้องการ

download-extract-03

เมื่อคลิกปุ่ม Extract to แล้วจะปรากฏหน้าต่าง ให้เลือกโฟลเดอร์ปลายทางที่เราจะขยายไฟล์ WordPress ไปเก็บไว้ ในที่นี้ให้ขยายไปเก็บไว้ที่โฟลเดอร์ที่เป็น root site ของเรา

โฟลเดอร์ root site นี้ ขึ้นอยู่กับโปรแกรมจำลอง Web Server ที่เราติดตั้ง

  • AppServ root site คือ C:\AppServ\www
  • XAMPP root site คือ C:\Xampp\htdocs

คลิกปุ่ม OK เพื่อเริ่มขยายไฟล์ไปยังโฟลเดอร์ เมื่อขยายเสร็จ ไฟล์ของ WordPress จะอยู่ในโฟลเดอร์ wordpress ที่ root site ของเรา หากต้องการเปลี่ยนชื่อโฟลเดอร์ ก็สามารถทำได้ เช่น หากต้องการให้เข้าถึงบล็อกทาง http://localhost/blog ก็ให้เปลี่ยนโฟลเดอร์ wordpress เป็น blog