ทรงขอบใจ คกก. ทำเข็ม 80 พรรษา

เมื่อเวลา 17.37 น. วันที่ 22 ก.ค.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลง ณ ท้องพระโรงศาลาเริง วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินโครงการจัดทำเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 คณะอนุกรรมการฝ่ายบริหาร และสรรหาผู้ร่วมโครงการจัดทำเข็มที่ระลึก คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการฝ่ายรับสั่งซื้อ และจัดจำหน่ายเข็มที่ระลึก คณะอนุกรรมการฝ่ายการเงินและบัญชี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน ซึ่งเป็นเงินรายได้จากการจำหน่ายเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

โอกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสขอบใจผู้ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ตั้งใจทำงานเพื่อให้บ้านเมืองก้าวหน้า

ก็ขอขอบใจท่าน และขอบใจท่านที่อุตส่าห์มา และขอขอบใจที่ท่านตั้งใจจะทำงานเพื่อให้กิจการต่างๆก้าวหน้าด้วยดี ขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาและขอให้ท่านได้มีผลสำเร็จในงานการด้วยดี เพื่อที่จะให้คนของท่าน เป็นคนของส่วนรวมด้วย เห็นชาติบ้านเมืองก้าวหน้าไม่มีความวุ่นวาย มีแต่ความก้าวหน้าต่อไป ก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มา และก็ขอให้ท่านได้มีความสำเร็จในงานการทุกอย่าง ขอขอบใจ

ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

พระบรมราโชวาท 15 พ.ค. 2551

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม ทรงขอให้ตั้งใจรักษาความยุติธรรมในบ้านเมือง ซื่อสัตย์ รักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาล แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าทำได้จะเป็นวีรบุรุษของบ้านเมือง แต่ถ้าว่างเว้นจากความเป็นผู้พิพากษา ก็จะทำให้เสียหาย

วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 เวลา 16.44 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ นายพินิจ สุเสารัจ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายวิชัย อริยะนันทกะ เลขาธิการประธานศาลฎีกา และ นายศราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะผู้พิพากษาประจำศาล โดยทรงขอให้ผู้พิพากษารู้จักที่จะวางตัวที่ดีตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในศาลและนอกศาล อันจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือความยุติธรรม ซึ่งจะส่งผลให้เป็นผู้พิพากษาที่ดีได้ Continue reading →

พระบรมราโชวาท 6 กุมภาพันธ์ 2551

วันที่ 6 ก.พ. 2551 เวลา 16.52 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี

ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่

โอกาสนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

Continue reading →

พระบรมราโชวาท 31 ธันวาคม 2550

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช 2551 แก่ประชาชนชาวไทย ความว่า

“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2551 ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน และขอขอบใจท่านเป็นอย่างมาก ในน้ำใจไมตรีที่ทุกคน ทุกฝ่าย แสดงให้เห็น ทั้งในคราวที่เจ็บป่วย และในการจัดงานวันเกิดครบ 80ปี รวมทั้งได้แสดงความวิตกห่วงใยอย่างจริงใจในการเจ็บป่วยของพี่สาวข้าพเจ้า

สถานการณ์บ้านเมืองเราแต่ปีก่อน และต่อเนื่องมาถึงปีที่แล้วเป็นอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันอยู่แก่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราได้มีรัฐธรรมนูญ และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นับว่าประเทศชาติของเราได้ผ่านหัวเลี้ยวสำคัญอีกขั้นหนึ่ง

จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันประคับประคองกิจการของบ้านเมือง ให้ดำเนินไปด้วยดี ให้มีความเป็นปึกแผ่นและร่มเย็นเป็นปรกติสุข ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดให้ถูกตรงและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย แต่ละคนแต่ละฝ่าย จะต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว พยายามโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าหากัน ด้วยไมตรีจิตและความเมตตากรุณา อย่าก่อปัญหาและก่อเงื่อนไข อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยก ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไป ให้ทันการณ์ทันเวลา ผลงานของทุกคนทุกฝ่าย จักได้ประกอบส่งเสริมกัน ให้ประเทศชาติอันเป็นที่อยู่ที่อาศัยของเรา ดำรงมั่นคงอยู่ด้วยความผาสุกร่มเย็นตลอดไป

ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเคารพบูชา จงคุ้มครองรักษาให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขสบาย สุขใจ และประสบแต่สิ่งที่พึงประสงค์ ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน”

คัดมาจาก ผู้จัดการรายวัน

พระบรมราโชวาท 17 ธันวาคม 2550

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ โดยเมื่อเวลา 16.42 น. วันที่ 17 ธ.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายวิรัตน์ ลิ้มวิชัย ประธานศาล ฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สนง.ศาลยุติธรรม เฝ้าฯ เพื่อ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ในการนี้ นายวิชัย อาริยะนันทกะ เลขาธิการประธานศาลฎีกา และนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมเข้าเฝ้าฯ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯดังนี้

“บ้านเมืองจะต้องมีความยุติธรรม หมายความว่า คนจะปฏิบัติตัวตามใจชอบไม่ได้ ต้องทำตามกฎเกณฑ์ ถือว่าของกฎหมายก็ได้ หรือต้องเป็นไปตามความดี กฎเกณฑ์ ของความดี เพราะความดีนั้นก็คือ ทำอะไรที่ตรงไปตรงมา ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน ต่อประชาชน โดยเฉพาะทุกคน ที่มีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ต้องมีกฎเกณฑ์ ต้องมีขื่อมีแป หากไม่มีขื่อมีแปแล้ว ประเทศชาติจะล่มจม หรือที่สำคัญที่ต้องมีผู้พิพากษาที่มีความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งของผู้พิพากษาไม่ใช่ง่าย เพราะว่า มีคนที่ไม่ค่อยดี หมายความว่า ไม่ค่อยสุจริต ก็หาทางที่จะหลบเลี่ยงกฎหมาย หลบ เลี่ยงกฎเกณฑ์ หลบเลี่ยงความดี เพื่อความดีของตัว ฉะนั้น ท่านก็ต้องรักษาความเข้มแข็งของคำปฏิญาณนี้ ซึ่งถ้าพูด ถึงง่ายๆก็ไม่ยาก เพราะว่า ความดีนั้น เป็นสิ่งที่ง่าย แต่ว่า ทำไมมันยาก เพราะมันมีอคติ อคติ หมายความว่า คนเรา อยากจะทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมาก แต่ท่านได้ปฏิญาณ ว่า ท่านจะไม่หลงในอคติ ซึ่งเป็นของดีมาก ถ้าไม่หลงในอคติ ก็ทำไม่ยาก ฉะนั้นถ้าท่านรักษาสิ่งที่ท่านได้เปล่งวาจานี้ ก็จะทำได้ง่าย เพราะว่า ถ้าเราไม่หลงในอคติ ก็ไม่ ยากที่จะทำดี ถ้าทำดีแล้วทุกคนก็ได้รับประโยชน์ ในการ รักษาความดี บางอย่างอาจจะไม่ใช่ง่าย เพราะว่ามีคนที่ ไม่ใช่หลงในอคติ มีคนที่อยากจะไปในทางที่ไม่ถูก อยากจะไปในทางที่เป็นอคติ เขาพยายามที่จะหลอกลวงตลอดเวลา ท่านต้องเข้มแข็ง ความเข้มแข็งของผู้พิพากษาจะต้อง รักษาไว้ตลอดชีวิต ทั้งในเวลาที่ปฏิบัติงานหน้าที่ หมายความ ว่า ว่าขึ้นบัลลังก์ หรือทำหน้าที่ในการพิพากษา ทั้งเวลาธรรมดาปกติ อย่างท่านไปที่ไหน ท่านก็ละทิ้งความเป็นผู้พิพากษา ละทิ้งความเป็นคนที่มีความดี ความตรงไป ตรงมา ละทิ้งไม่ได้ อย่างเช่นการไปอยู่ในชนบท ท่านไป เห็นความไม่ดี ท่านต้องต่อสู้เพื่อให้ความไม่ดีนั้นหายไป หมดไป จะต้องให้ความดีอยู่ จงรักษาความดีไว้”

ลำดับต่อมา ในเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวเสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม นำตุลาการศาลทหารสูงสุด ตุลาการศาลทหาร กลาง และตุลาการรัฐธรรมนูญศาลทหารกรุงเทพ เฝ้าฯ เพื่อ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ในการนี้ นายทหารสัญญาบัตรร่วมเฝ้าฯด้วย และโอกาสนี้ ได้พระ ราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า

“ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ฟังนายทหารที่ได้เปล่งวาจา ปฏิญาณตนว่า จะปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต การ ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคตินั้น เป็นหน้าที่สำคัญของ นายทหารทุกคน และโดยเฉพาะตุลาการที่จะต้องรักษาความยุติธรรมของหน้าที่ ท่านเป็นทหารก็ต้องรักษาความ ดีอยู่เป็นธรรมดา และยิ่งเป็นตุลาการก็ยิ่งสำคัญ เพราะว่า ทหารถือว่ามีอาวุธ แต่ความยุติธรรมของตุลาการของท่าน ก็เท่ากับเป็นอาวุธอีกอย่าง ถ้าท่านรักษาความดีของตุลาการ ก็จะไม่ต้องใช้อาวุธที่จะประหัตประหาร ฉะนั้น ท่านก็ได้ ปฏิบัติ ปฏิญาณตน ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเป็นการยืนยันว่า ท่านมีหน้าที่ และหน้าที่ท่านจะสำคัญมากสำหรับประเทศ ชาติ จะทำให้ประเทศชาติ มีความสุข ความสงบอยู่ตลอด ไม่จำเป็นต้องประหัตประหารกัน

ฉะนั้น ท่านก็จงรักษาคำปฏิญาณนี้โดยเด็ดขาด โดยเข้มแข็ง เพราะว่าส่วนมากเป็นความลำบากที่จะรักษาความยุติธรรม เพราะว่าความยุติธรรมนั้น หมายความว่า จะต้องรักษา จะต้องเสียสละ เพราะว่า โดยมากคนเราจะชอบที่จะเอาเปรียบ ถ้าเอาเปรียบคน ก็ไม่เป็นความยุติธรรม ดังนั้น ท่านต้องไม่เอาเปรียบ ท่านต้องรักษาไม่ให้คนอื่นเอาเปรียบ ถ้ามีคนเอาเปรียบคนอื่น จะทำให้บ้านเมืองไปไม่รอด ฉะนั้นขอให้ท่านดูแล ความยุติธรรมใน ไม่ใช่ในกองทัพเท่านั้นเอง แต่ว่าทั่วไป ไม่ได้ไม่ต้องประหัตประหารกัน ก็ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ของท่านที่จะได้รับ เพื่อความสงบสุข ของทุกส่วนของประเทศ และเมื่อทุกส่วนของประเทศมีความสงบสุข บ้านเมืองทั้งหมดก็จะอยู่เย็นเป็นสุข และมีความสามารถที่จะรักษาอธิปไตย รักษาความดีของประเทศ ประเทศไทยได้อยู่เย็นเป็นสุขมานาน แต่ว่าเดี๋ยวนี้รู้สึกว่า ค่อนข้างจะเอาเปรียบกัน ในการเอาเปรียบกันไม่ดี จะต้องให้มีคนที่ไม่เอาเปรียบรักษาความสงบสุขต่อไป ก็ขอให้ท่านมีความสำเร็จในงานของท่าน และมีความเข้มแข็ง รักษาความยุติธรรม ไม่ใช่ในกองทัพนั้นเอง แต่ทั่วไป ให้คนเขาไว้ใจว่าทหารเป็นผู้ที่รักษา ความยุติธรรม เราช่วยกันรักษาความดีของประเทศชาติ ทหารจะมีชื่อเสียง รักษาชื่อเสียงไว้ดีๆ

ฉะนั้นขอให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง ขอให้ท่านมีความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่และมีความสำเร็จในงานทุกอย่างของทหาร ก็ขอให้ท่านมีความดีอยู่ในตัว รักษาความดีนี้ตลอดไป จนกระทั่งทำให้กองทัพไทยรักษาชื่อเสียงไว้ได้ ถ้ากองทัพไทยรักษาชื่อเสียงไว้ได้ดี ไม่มีใครจะมาทำลายเราได้ ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่า กองทัพจะรักษาประเทศชาติได้ ไม่ใช่ด้วยอาวุธ ประหัตประหาร แต่ว่าด้วยความดี ขอให้ท่านประสบความสำเร็จในงานการของท่าน แล้วก็ให้ท่านมีความสุขในความสำเร็จนี้ ขอจงมีความเจริญ และขอให้มีความเข้มแข็งที่จะปฏิบัติหน้าที่ทุกบ้าน”

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ