พูดถึงเรื่องวุ่น ๆ ของปลั๊กอินหลาย ๆ คนอาจจะบอกว่า เอ…มันมีเรื่องอะไรให้วุ่น ๆ หว่า… จริง ๆ มันก็ไม่มีอะไรให้วุ่นหรอก เพียงแต่เพราะความง่ายในการใช้งานนี่แหล่ะ ที่ทำให้หลาย ๆ คนพบกับเรื่องวุ่น ๆ เท่านั้นเอง
ผู้ใช้หลายคนมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องปลั๊กอิน ใช้งานไม่ได้บ้าง ติดตั้งแล้วเกิดข้อผิดพลาดกันบ้างหล่ะ คงจะต้องมาพูดกันถึงเรื่องรวม ๆ กับปัญหาที่ทำให้เราวุ่นวายดีกว่า คือ การใช้ปลั๊กอินแต่ละตัวนั้นมีความแตกต่างกันออกไป เพราะปลั๊กอินเขียนจากผู้พัฒนาหลายคน (มากมาย) รวมทั้งการใช้งาน การปรับแต่งก็แตกต่างกันออกไป ไม่มีกฎตายตัวที่แน่นอน
ควรทดสอบบนเครื่องส่วนตัวก่อน
การจะใช้การปลั๊กอินแต่ละตัวนั้น ควรจะต้องศึกษาข้อมูลของปลั๊กอินนั้นก่อนว่า ใช้ได้กับ WordPress รุ่นไหน รองรับ WordPress รุ่นล่าสุดหรือไม่ หากไม่รองรับ ควรที่จะทดสอบการทำงานบนเครื่องก่อน หากมีปัญหาก็จะได้หาวิธีแก้ไข เพราะหากทำบนบล็อกออนไลน์ อาจจะทำให้เกิดขึ้นได้ หรืออาจจะเข้าบล็อกไม่ได้ และการที่ไม่รองรับ (ตามข้อมูลที่แจ้งไว้) ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่รองรับเสมอไป เพียงแต่ข้อมูลนั้นไม่ทันสมัย คือเขาไม่ได้ปรับข้อมูลนั่นเอง บางตัวแม้ตามข้อมูลจะไม่รองรับ (เพราะเขาไม่ได้ทดสอบกับ WordPress รุ่นล่าสุด) แต่ใช้งานจริง ๆ แล้วก็ใช้งานได้ไม่มีปัญหา
ควรศึกษาปลั๊กอินให้ดีก่อนติดตั้ง
บางปลั๊กอินก็ติดตั้งแล้วใช้ได้เลยไม่ต้องปรับแต่งอะไร ปลั๊กอินบางตัวต้องปรับแต่งค่า แต่บางตัวมากกว่านั้น ต้องนำ tag ไปแก้ไขในธีมเพื่อให้แสดงผลตามจุดประสงค์ของปลั๊กอินด้วย หรือบางทีก็มีการสร้างโฟลเดอร์ใหม่และต้อง chmod เป็น 777 ก่อนถึงจะใช้งานได้
การดาวน์โหลดปลั๊กอินนั้น ควรจะดูรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะดาวน์โหลดว่า มีข้อมูลอื่น ๆ ให้ศึกษาหรือไม่ หรือดาวน์โหลดมาแล้วลองหาไฟล์ readme.txt ดูรายละเอียดว่า มีข้อมูลอะไรบ้าง ผู้พัฒนาบางคนแจ้งรายละัเอียดต่าง ๆ ไว้ครบถ้วน แต่ผู้พัฒนาบางคน จะแจ้งไว้ใน readme.txt ว่า การใช้งานได้ดูรายละเอียดใน url ที่เขาแจ้งมา นั่นหมายความว่า เราต้องไปเปิด url นั้นศึกษาการใช้งานเพิ่มเติม
การอัพเกรด/ถอนติดตั้ง
สิ่งที่ควรระมัดระวังก็คือการอัพเกรดและการยกเลิกการติดตั้ง ไม่ใช่ว่า หากอยากจะถอนการติดตั้งปลั๊กอิน แล้วก็ไปลบปลั๊กอินออกไปก็จบกัน หลักการนี้ใช้ไม่ได้กับทุกปลั๊กอิน บางปลั๊กอินโดยเฉพาะที่มีการสร้างข้อมูลในฐานข้อมูลเพิ่มเติมเหล่านี้ ควรดูรายละเอียดการถอนการติดตั้งให้ดี บางปลั๊กอินจะให้ถอนการติดตั้งในส่วนของปรับแต่งค่าปลั๊กอิน หากไม่ทำอย่างถูกต้องอาจจะมีผลกระทบกับบล็อกของเราได้
ส่วนของการอัพเกรดนั้น บางปลั๊กอินจะให้ Deactivate รุ่นเดิมก่อนที่จะัอัพเกรด แต่บางปลั๊กอินก็จะให้ติดตั้งทับไปได้เลยโดยที่ไม่ต้อง Deactivate ปลั๊กอินรุ่นเดิมก่อน แต่ถ้าหากปลั๊กอินไหนมีการอัพเกรดใน Dashboard ได้ ก็ข้ามสิ่งที่กล่าวมาได้เลย
เกิดปัญหาแล้วจะทำอย่างไร
เมื่อติดตั้งปลั๊กอินแล้วเกิดปัญหา ให้ทำการลบโฟลเดอร์ปลั๊กอินนั้นออกก่อน และควรติดตั้งปลั๊กอินทีละตัว เพราะหากเกิดปัญหาจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุดว่าเกิดจากปลั๊กอินไหน และในการอัพเกรด WordPress นั้น ควรที่จะดูเรื่องความเข้ากันได้ของแต่ละปลั๊กอินด้วยว่า รองรับกับ WordPress ที่อัพเกรดมาหรือไม่ หากไม่รองรับ ก็ควรที่จะหารุ่นใหม่มาอัพเกรด
ตัวอย่างปลั๊กอิน
- Simple Tags ตัวนี้ติดตั้งแล้วต้องนำ tag ไปใส่ในธีม
- Lightbox 2 ปรับแต่งค่าปลั๊กอินเล็กน้อย ใช้ได้เลย
- WP-DB-Backup ปลั๊กอินไว้สำรองข้อมูล ตัวนี้จะสร้างโฟลเดอร์ให้ด้วย ต้องมีการ chmod 777 ให้กับโฟลเดอร์ด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวโดยภาพรวมถึงความแตกต่างของแต่ละปลั๊กอิน ดังนั้น ควรศึกษาปลั๊กอินที่เราจะติดตั้งให้ดีก่อน เพื่อจะได้ลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการฝึกฝนตนเองให้สามารถเข้าใจปัญหาได้เองอีกด้วย เพราะบางคนอาจจะคิดว่า ปลั๊กอินติดตั้งได้สบาย ๆ พอเอาเข้าจริง ๆ แล้วเกิดปัญหา ต้องไปพึ่งพาคนอื่นแก้ปัญหา ซึ่งจริง ๆ หากเราเข้าใจและศึกษาการทำงานของปลั๊กอินดี เราก็สามารถแก้ปัญหาเองได้