พบทางลัดในการย้ายโฮสต์

ตอนนี้ก็ได้โฮสต์ใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วหล่ะครับ นั่นคือ WPWEBHOST นั่นเอง ที่เคยมาแนะนำให้ลองใช้ฟรี ๆ เมื่อที่เปิดให้บริการใหม่ ๆ โฮสต์นี้ใช้ Cpanel เหมือนกับ Bluehost ทำให้การย้ายข้อมูลสะดวกคือ สั่งให้ zip ไฟล์ (บีบอัดไฟล์เป็น .zip) จาก File Manager แล้วดาวน์โหลดกลับมายังเครื่องของเรา แทนการดาวน์โหลดทีละไฟล์ นานแสนนานกว่าจะหมด แล้วก็อัพโหลดไปยัง WPWEBHOST แล้วสั่งให้ unzip (ขยายไฟล์ที่อยู่ในไฟล์ .zip ออก) ไฟล์ต่าง ๆ ออกบน Server เร็วอีกเช่นกัน เพราะไม่ต้องอัพโหลดทีละไฟล์
Continue reading →

การย้ายบล็อก WordPress สู่โฮสต์ใหม่

การใช้ WordPress ไปนาน ๆ อาจจะต้องการที่จะเปลี่ยนโฮสต์ใหม่ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ให้บริการไม่ดี, ช้า, อยากได้พื้นที่มากขึ้น, อยากได้แบนด์วิดธ์มากขึ้น, อยากได้ฐานข้อมูลมากขึ้น, อยากได้โฮสต์ราคาถูก, ไปใช้ของฟรี จะเห็นว่า ด้วยสาเหตุหลายประการจริง ๆ

การย้าย WordPress ไปยังโฮสต์ใหม่นั้น ก็ไม่ได้ยากอย่างที่หลาย ๆ คนคิดไปล่วงหน้า บางทีกลัวเพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่จริง ๆ แล้วง่ายครับ เพราะจริง ๆ แล้ว WordPress จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนของไฟล์ติดตั้ง (รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเพิ่มเข้าไป เช่นปลั๊กอิน, ธีม เป็นต้น) และอีกส่วนคือ ส่วนของข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเขียนไป เช่นบทความ ข้อมูลเพจ (page) และความเห็นต่าง ๆ ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในฐานข้อมูล MySQL เราก็สำรองข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้ไป และปรับแต่งส่วนอื่น ๆ อีกนิดหน่อยเท่านั้นเอง ทุกอย่างก็ราบรื่นแล้วหล่ะครับ

การย้ายบล็อกนี้ ควรที่จะเช่าโฮสต์ใหม่รอไว้ก่อน ก่อนที่จะย้าย และมีขั้นตอนในการย้ายบล็อก WordPress ดังนี้

  1. สำรองข้อมูลจากฐานข้อมูล MySQL โดยใช้ phpmyadmin
  2. สำรองข้อมูลติดตั้ง WordPress ทั้งหมด รวมทั้งไฟล์ .htaccess, robots.txt และไฟล์ต่าง ๆ ที่อัพโหลดไปยังบล็อก จากโฮสต์เดิม (หาก File Manager ใน Control Panel มีฟังก์ชั่น Compress/Extract ทำการย่อไฟล์เป็น .zip จาก File Manager แล้วดาวน์โหลดเพียงไฟล์เดียวจะเร็วกว่า) มาไว้ที่เครื่องของเรา
    ก่อน
  3. สร้างฐานข้อมูล ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน บนโฮสต์ใหม่
  4. นำเข้าฐานข้อมูลที่ได้สำรองจากโฮสต์เก่า (ข้อ 1) เข้าไปยังโฮสต์ใหม่ ผ่านทาง phpmyadmin
  5. แก้ไขไฟล์ wp-config.php ที่ได้จากการสำรองข้อมูลใน ข้อ 2 โดยป้อนข้อมูลชื่อฐานข้อมูล ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน ตามข้อมูลของโฮสต์ใหม่ที่สร้างจากข้อ 3 (ส่วนชื่อโฮสต์นั้นหากใช้ localhost เหมือนกัน ไม่ต้องเปลี่ยน)
  6. อัพโหลดไฟล์ของ WordPress ทั้งหมดไปยังโฮสต์ใหม่ในโฟลเดอร์ blog (ถ้าในโฮสต์ใหม่ File Manager ใน Control Panel มีฟังก์ชั่น Compress/Extract ให้อัพโหลดข้อมูล .zip แล้วไปขยายไฟล์ผ่าน File Manger จะเร็วกว่า)
  7. ไปยังส่วนจัดการโดเมนของผู้ให้บริการจดโดเมนที่เราได้จดโดเมนไว้ เปลี่ยน NameServer ให้เป็น NameServer ตามข้อมูลของโฮสต์ใหม่
  8. รอ NameServer อัพเดท ไม่เกิน 24 ชม. ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ บนโฮสต์ใหม่ได้แล้ว

ขั้นตอนตามที่แสดงมา คงช่วยให้ผู้ที่ต้องการย้ายโฮสต์ ได้คลายกังวลและศึกษาเป็นแนวทางได้ หากมีข้อสงสัยอะไร สอบถามเพิ่มเติมก็แสดงความเห็นเข้ามาได้ครับ


ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 27 มกราคม 2552

คำแนะนำ

เมื่อสำรองข้อมูลมาแล้ว ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วย โดยการขยายและเปิดดูข้อมูล หากมีปัญหาให้ทำการสำรองข้อมูลอีกครั้ง