ในปัจจุบันการทำเว็บนั้น สะดวกกว่าแต่ก่อนหลายอย่าง เช่น โฮสต์ในเมืองไทยมีให้เลือกเยอะขึ้น แข่งขันกันทั้งด้านบริการและราคา (แต่ด้อยคุณภาพ ก็ยังพอมีให้เห็น) ดังนั้น คุณภาพบางทีก็ขึ้นอยู่กับราคาเหมือนกัน คุณภาพดีและแพง จึงหาได้ไม่ยากนัก แต่ก็นั่นแหล่ะครับ อย่าไปคิดมากเลยครับ คิดเสียว่า ถ้าทุนน้อย ก็เหมือนกับเสี่ยงโชคนั่นแหล่ะครับ แต่ผมก็ค่อนข้างจะโชคไม่ค่อยดีกับโฮสต์ในเมืองไทยนัก บางเจ้าเชิญออกจากโฮสต์ เพราะใช้แบนด์วิธด์เปลือง บางเจ้าเว็บล่มมือถือปิดบ้าง โทร.ไปไม่รับสายบ้าง โทรศัพท์บ้าน ยกหูซะงั้น หายไปเป็นเดือนสองเดือน ได้ข่าวช่วงนั้นไปโผล่ตามห้าง หาคนกู้ข้อมูลให้
ผมใช้โฮสต์ที่เมืองนอก ขอถูกและมีปัญหาดาวน์น้อยครั้ง (แม้บางครั้งจะหยุดชั่วขณะที่ใช้งาน CPU เกิน 20%) ทุกอย่าง OK เลยครับ ไม่ต้องมานั่งปวดหัวเรื่องราวต่าง ๆ ไม่เคยสนใจจะติดอันดับค้นหาเท่าไหร่ จะติดอันดับของ google เท่าไหร่หรือไม่ ไม่เคยคิด คิดอย่างเดียว มีเงินจ่ายค่าโฮสต์ มีเว็บให้ทำ ทำแบบมันส์ ๆ เขียนความรู้ให้ได้อ่านกันได้ ก็พอแล้วหล่ะครับ
เกริ่นกันเสียจนน้ำท่วมทุ่งไปหน่อยกว่าจะเข้าเรื่อง ในส่วนการควบคุมโฮสต์ที่เราใช้บริการ เราเรียกว่า Control Panel เช่น การสร้างฐานข้อมูล การอัพโหลด ดาวน์โหลดไฟล์ การสร้างอีเมล์ การสร้างบัญชี FTP การดูสถิติ เป็นต้น โปรแกรมที่เป็น Control Panel นี้ มีหลายโปรแกรม ก็ใช้แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าจะใช้โปรแกรมไหนกัน
ที่นิยมก็เห็นจะเป็น Cpanel ล่าสุดได้พัฒนาเป็นรุ่น 11 แล้ว รุ่นนี้ได้เพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ น่าใช้งานมาก สามารถเข้าชมตัวอย่างเพื่อทดสอบการใช้งานได้ ในรุ่นนี้ผมได้ประทับใจกับฟังก์ชั่นของ File Manager ในอันดับต้น ๆ เลยครับ เพราะว่า มีฟังก์ชั่นที่สะดวกมาก ๆ ในการสำรองไฟล์
การสำรองไฟล์บางครั้งเราจะต้องดาวน์โหลดทีละไฟล์ แต่ในรุ่นนี้ เลือกโฟลเดอร์ที่จะทำการสำรอง แล้วก็เลือก Compress โปรแกรมจะทำการย่อทั้งโฟลเดอร์เหลือเพียงไฟล์เดียว แล้วก็ดาวน์โหลดมาเก็บไว้
ปกติแล้วเวลาจะอัพโหลดไฟล์ จะอัพโหลดไปทีละไฟล์หรือพร้อม ๆ กัน 2-3 ไฟล์ ยิ่งไฟล์เยอะยิ่งต้องใช้เวลานาน แล้วบางครั้งผมต้องติดตั้งโปรแกรมให้กับผู้ใช้ ผมต้องอัพโหลดไปให้เขาอีก กว่าจะเสร็จแต่ละโปรแกรมก็ใช้เวลาพอสมควร ยิ่งไฟล์มากยิ่งใช้เวลานาน ก่อนนั้นไม่ค่อยได้สังเกตหรือคิดจะใช้สักเท่าไหร่ แต่พอนาน ๆ ไปเริ่มสนใจขึ้นมา นั่นก็คือฟังก์ชั่น Extract อัพโหลดไฟล์ที่บีบอัดแล้วเพียงไฟล์เดียว จากนั้นสั่งให้ไปขยายบนโฮสต์เลยทีเดียว อัพโหลดก็เร็ว ไม่ต้องนั่งรอให้โปรแกรมอัพโหลดทีละไฟล์
อย่างเช่น ต้องการจะอัพโหลดไฟล์บล็อกของ WordPress เราก็บีบอัดให้เป็น wordpress.zip แล้วก็อัพโหลดขึ้นโฮสต์ จากนั้นเข้า Control Panel สั่งให้ขยายไฟล์ ใช้เวลาเพียงแป๊บเดียว ก็ขยายไฟล์เสร็จแล้ว
การสร้างฐานข้อมูล MySQL ก็ง่ายดี รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ น่าใช้เพราะจัดการไว้เป็นหมวด ๆ สามารถย่อ-ขยายการแสดงผลในแต่ละส่วนได้ หากใครยังงง ๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ก็มี Getting Started Wizard ช่วยชี้ทางของเราได้