ทำวีดีโอสอนการใช้งานด้วย Camtasia Studio

ในยุค Windows 95, 98, ME นั้นโปรแกรมสำหรับทำวีดีโอเทรนนิ่ง หรือโปรแกรมจับภาพหน้าจอเป็นวีดีโอที่จับภาพการเคลื่อนไหวของเม้าส์ การใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ รวมทั้งการบรรยายประกอบ สำหรับทำวีดีโอสอนการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ที่นิยมกันมาก นั่นก็คือ Lotus ScreenCam

ถัดมาในยุค Windows XP นั้น โปรแกรมนั้นใช้งานไม่ค่อยสะดวกหรือไม่รองรับการใช้งานบน Windows XP และหยุดการพัฒนาไป โปรแกรมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนั้น มีหลายโปรแกรมด้วยกัน เช่น Wink, Camtasia Studio จากค่าย TechSmith เจ้าเดียวกับผู้พัฒนา SnagIt โปรแกรมจับภาพหน้าจออันลือชื่อ

ส่วนตัวแล้วเคยใช้ SnagIt มานานมาก และ Camtasia นั้น ใช้ไม่บ่อยนัก ได้ลองมาหลาย ๆ รุ่นแล้ว แต่ยังไม่เคยจับมาใช้งานเป็นจริงเป็นจังสักที เคยเขียนบทความลงในพันทิปห้องเทค แต่ก็เขียนได้ไม่กี่ตอนเอง จนล่าสุดนี้ มีความจำเป็นต้องใช้งานจริง ๆ จัง ๆ แล้ว

นั่นก็คือ ทำวีดีโอสอนการใช้งานโปรแกรม FileZilla FTP Client สำหรับอัพโหลดข้อมูลทำเว็บไซต์ให้กับรุ่นพี่ ๆ ซึ่งก็ทำไปทำมา วีดีโอที่สอนนั้นใช้เวลาประมาณ 40 กว่านาที

วีดีโอสอนการใช้งาน FileZilla FTP Client

ผมใช้ Camtasia Studio 5 ในการทำวีดีโอสอนครั้งนี้ โปรแกรมตัวนี้ถือว่ามีความน่าใช้งานเป็นอย่างมาก การจับภาพก็มีให้เลือกหลายรูปแบบเช่น จับเฉพาะหน้าต่างโปรแกรม, เฉพาะขอบเขตที่กำหนด หรือจับทั้งหน้าจอภาพ สามารถจับภาพจาก WebCam ได้อีกด้วย การบรรยายเสียงสามารถบรรยายพร้อมกับการจับวีดีโอหรือจะมาบรรยายในขณะที่ทำการตัดต่อก็ได้ ตามสะดวก

เมื่อจับภาพเสร็จ สามารถนำคลิปหลาย ๆ คลิปมาตัดต่อให้ดำเนินวีดีโอไปอย่างต่อเนื่องกัน ใส่ Effect ต่าง ๆ เช่น การซูมภาพ การยืดวีดีโอ การใส่ตัวหนังสือบรรยายประกอบ เป็นต้น เมื่อตัดต่อเสร็จ ก็ส่งข้อมูลจากการตัดต่อเป็นวีดีโอรูปแบบต่าง ๆ เช่นไฟล์ Flash, Quick Time, AVI, WMV เป็นต้น นับว่ามีความสะดวกไม่น้อยเลย

อ้างสรรพคุณไปมากแล้ว มาดูขั้นตอนผมทำบ้าง การทำของผมนั้นไม่มีขั้นตอนอะไรมาก หลักการต่าง ๆ ไม่ต้องมาใช้ เอาแบบง่าย ๆ นี่แหล่ะ อย่างแรก ต้องใช้โปรแกรมที่จะสอนเป็น (อันนี้สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เลย) เขียนขั้นตอนต่าง ๆ ว่า จะสอนเรื่องอะไรบ้าง ตามลำดับที่จะสื่อกับผู้ชมวีดีโอ จากนั้นก็บันทึกการสอนการใช้งานโปรแกรมไปทีละตอนตามที่เราเขียนเอาไว้ เช่น แนะนำโปรแกรม ก็เปิดหน้าจอ Windows แล้วก็บันทึกวีดีโอ บรรยายคุณลักษณะของโปรแกรมในด้านต่าง ๆ ว่า มันทำอะไรได้บ้าง มีประโยชน์อย่างไร เป็นต้น เมื่อบันทึกขั้นตอนนี้เสร็จ ก็หยุดวีดีโอแล้วบันทึกเป็นไฟล์เก็บไว้ จากนั้นก็บันทึกในขั้นตอนต่อไป เรียกง่าย ๆ ว่า บันทึกไปทีละตอน ๆ

ที่ต้องบันทึกทีละตอนนั้น เพราะมันง่ายต่อการตัดต่อ แล้วเราทำแบบไปเรื่อย ๆ มีเวลาก็ทำ ไม่มีเวลาก็หยุด ทำให้เราสามารถทำได้หลาย ๆ ครั้งกว่าจะจบ เพราะทำฟรี ๆ ครับ ไม่ได้เงิน เลยทำไปตามกำลังและเวลาที่จะอำนวย แล้ววีดีโอเหล่านั้นสามารถมาต่อให้เล่นได้อย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำครั้งเดียวจบในทุก ๆ ขั้นตอน

การบันทึกนั้น บางตอนบันทึกกันหลายครั้งก็มี บันทึกไป นึกมุกไม่ออก คลิกผิดบ้าง บรรยายผิดบ้าง พูดติด ๆ ขัด ๆ บ้าง กว่าจะเสร็จก็ใช้เวลาพอสมควร อันไหนที่บันทึกแล้วเละ ก็ต้องบันทึกใหม่ อันไหนไม่ดี แต่พอแก้ไขได้ก็เก็บเอาไว้ ไม่ต้องบันทึกใหม่ เอาไว้ตัดส่วนที่ไม่ดีออกก็พอ การบันทึกนั้น เวลาบันทึกลงไฟล์ หากในส่วนไฟล์ใด มีปัญหาอย่างไรก็จะเขียนโน้ตเอาไว้ เช่น ตัดส่วนท้ายออก หรือมีการบรรยายพลาดตรงจุดใดบ้าง เพื่อเอาไว้แก้ไขตอนตัดต่อ ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

พอมาถึงขั้นตอนตัดต่อก็ไม่ได้ทำแบบพิศดารอะไรหรอก ง่าย ๆ เลย ตัดส่วนที่บรรยายผิดออก ลบเสียงออกไปบ้าง ตัดเฟรมออกไปบ้างอะไรพวกนี้แหล่ะครับ ไม่ได้ใส่พวกตัวหนังสือบรรยาย ใส่ไตเติ่ล หรือใส่ Effect ต่างๆ หรอก เพราะเคยสังเกตว่าเวลาใส่พวกนี้แล้วจะทำให้ไฟล์ใหญ่ (ไม่แน่ใจว่าเป็นทุกวีดีโอหรือเปล่า ลองแค่คร้งเดียวเอง) แต่ก็ตั้งชื่อส่วนของคลิปต่าง ๆ เอาไว้เป็นชื่อของเมนู โดยขั้นตอนสุดท้าย ส่งออกมาเป็นไฟล์ Flash แบบมีเมนูด้านข้าง จับภาพแบบ 1024×768 เวลามาทำเป็น Flash ก็ย่อวีดีโอให้เหลือความกว้างแค่ 720 + 160 สำหรับส่วนของเมนูด้านซ้ายมือ ซึ่งพอทำเสร็จแล้วก็สามารถดูผ่านเบราเซอร์ได้สบาย ๆ

ครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำสอนการใช้วีดีโอครั้งแรก ทำอะไรขาด ๆ เกิน ๆ และมีส่วนที่ได้เรียนรู้อะไรไปหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน สิ่งที่อาจจะทำครั้งต่อ ๆ ไปก็คือทำ Title แบบของฝรั่ง และตอนจบมีเครดิตว่าใครทำ หรือใส่เว็บไซต์ของเราไปด้วยก็ได้ การใส่ลายน้ำลงไปแสดงความเป็นเจ้าของวีดีโอซะ หรือมีการซ้อนภาพ การซูมภาพต่าง ๆ ซึ่งผมเชื่อว่า หากเราทำหลาย ๆ ครั้ง บ่อย ๆ ก็คงจะพัฒนาฝีมือได้อย่างไม่ยาก (รึเปล่าหว่า….)

เห็นการบรรยายวีดีโอสอนที่มีขายตามท้องตลาด เห็นทีเราจะต้องวิ่งตามเขาอีกหลายก้าวเหมือนกันแฮะ นี่ก็คือประสบการณ์การทำวีดีโอเทรนนิ่งของผม ซึ่งก็ทำให้เราต้องฝึกการใช้ Camtasia ให้มากขึ้น ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้ให้มากขึ้น รวมทั้งการใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ ที่เป็นแล้วก็สามารถทำมาทำเป็นวีดีโอสอนเก็บเอาไว้ ใครมีปัญหาก็ให้เอาไปเปิดดู จะได้ไม่ต้องสอนกันบ่อย ๆ หรือบางครั้งการเขียนบทความมันก็สอนได้แต่ไม่เห็นภาพการทำงานจริง ๆ วีดีโอนี่แหล่ะที่จะทำให้เห็นภาพจริง ๆ การใช้งานจริง ๆ เลยแหล่ะครับท่านผู้ชม

5 Comments

  1. ขอบคุณมากกับความรู้ครับ ว่างๆก็ไปเที่ยวเว็บบ้างนะครับ

  2. ขอบคุณมากๆๆๆๆๆ ครับ อยากรู้มานานนแล้ว ว่าทำ ยังไง >_< จะได้ทำวีดีโอ สอนใช้โปรแกรม เพื่อนผมมันโง่มากครับ! ขอบคุณคับ อยากรู้จักจังเลย ว่างๆAddมาก็ได้นะ -3- บอดร์นานละ สงสัยคนเขียนก็หาย หุหุ

  3. ผมมีปัญหาเกี่ยวกับภาพที่จะนำมาใช้ตัดต่อ คือมันสั่นครับ…ถ่ายจากกลองhandcam
    พอจะมีโปรแกรมอะไรที่จะช่วยให้ภาพมันคมชัดขึ้นหรือเปล่าครับ…ขอบคุณร่วงหน้าครับ

  4. ผมสนใจการทำวีดีโอสอนการใช้งานด้วย โปรแกรม Camtasia Studio แต่ผมไม่มีทักษะในการทำ อยากให้แนะนำวิธีทำด้วยครับ ผมไม่ทราบว่าจะเริ่มจากอะไรก่อน ถ้าได้วีดีโอสอนทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จเป็นวีดีโอออกมา จักขอบพระคุณมากครับ หรือถ้าจะมีอะไรแนะนำ ก็อย่าได้เกรงใจเลยนะครับ ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ (อยากได้โปรแกรม Camtasia Studio 5 เพราะได้ยินว่า เป็นโปรแกรมที่ดี มีFungtion เยอะใช่มั้ยครับ)

  5. ถ้าสนใจ ก็ลองดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้ง ปัจจุบันรุ่นล่าสุดเป็นรุ่น 7 มีหนังสืออ่านครับ ไปที่ร้านซีเอ็ด แล้วลองหาหนังสือ “สร้างสื่อมัลติมีเดีย ด้วย Camtasia Studio 7” หนังสือนี้ละเอียดพอสมควร เพื่อความชัดเจนแนะนำหาไมค์ usb หรือไมค์ธรรมดาก็ได้ครับ หากไมค์มีเสียงรบกวน ก็ให้ต่อสายดิน

    จากนั้นก็ ฝึกฝนให้เยอะ ๆ ครับ เดี๋ยวก็เป็นเอง มีอะไรสงสัยเพิ่มเติม ก็สอบถามเข้ามาได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *


*