รวมวิธีเข้ารหัส VCD
ในการตัดต่อวีดีโอนั้น สิ่งสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ การเข้ารหัสภาพ เป็นการแปลงวีดีโอที่ได้ทำการตัดต่อใส่เอฟเฟ็กต์ ตัวหนังสือต่าง ๆ เสร็จแล้ว ให้เป็นวีดีโอที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น เป็น .mpg เพื่อนำไปเขียนเป็น VCD หรือ DVD .wmv สำหรับนำไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
โปรแกรมสำหรับเข้ารหัสภาพนี้มีอยู่หลายโปรแกรมด้วยกันในท้องตลาด แต่ที่นิยมใช้ในการตัดต่อวีดีโอนั้นก็มี TMPGEnc Plus, TMPGEnc 4.0 XPRESS, Procoder, Cinema Craft Encoder และ MainConcept ส่วนตัวอื่น ๆ นั้น ไม่ค่อยนิยมใช้ในการตัดต่อวีดีโอในบ้านเรานัก
หากจะถามว่า ในโปรแกรมตัดต่อก็มีตัวเข้ารหัสอยู่แล้วมิใช่หรือ ทำไมไม่ใช้ สำหรับปัญหานี้ ตอบได้ว่า โปรแกรมตัดต่อนั้น มักไม่ค่อยถนัดในการเข้ารหัสภาพ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ตัวเข้ารหัสภาพของโปรแกรมตัดต่อนั้น คุณภาพของภาพที่ได้ยังต่ำกว่าของโปรแกรมที่ทำงานเฉพาะด้านเข้ารหัสอย่างเดียว ดังนั้น ผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังคงเข้ารหัสด้วยโปรแกรมเฉพาะด้านเข้ารหัสมากกว่าที่จะใช้จากโปรแกรมตัดต่อเอง การตัดต่อวีดีโอจึงนำข้อมูลที่ได้จากการตัดต่อส่งมาให้โปรแกรมเฉพาะด้านเข้ารหัส
บทความต่อไปนี้ จะเป็นการนำเสนอวิธีการเข้ารหัสวีดีโอที่ได้จากการตัดต่อให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ที่จะนำไปทำเป็น Video-CD โดยใช้โปรแกรมต่าง ๆ หลายโปรแกรม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ตามโปรแกรมที่มีอยู่ หรือหาได้สะดวก อีกทั้งเป็นทางเลือกในการใช้งานโปรแกรมด้วย ซึ่งเมื่อได้ไฟล์วีดีโอมาแล้ว (.mpg) ก็สามารถนำไปเขียนเป็นแผ่น VCD ด้วยโปรแกรม Nero Burning ROM เพื่อนำไปเปิดบนเครื่องเล่น VCD/DVD ได้
โปรแกรมที่นำมาเสนอการเข้ารหัสมีดังนี้
- TMPGEnc Plus
- TMPGEnc 4.0 XPRESS
- Cinema Craft Encoder Basic
- Canopus ProCoder 2
- MainConcept MPEG Encoder
บทความการเข้ารหัสของแต่ละโปรแกรมนี้ เสนอการเข้ารหัสแบบพื้นฐาน ไม่ได้ลงลึกในคุณสมบัติของแต่ละโปรแกรม เช่นการใส่ filters การตัดส่วนของวีดีโอที่ไม่ต้องการออก เป็นต้น เน้นเฉพาะในเรื่องของการเข้ารหัสเท่านั้น ซึ่งเมื่อผู้ใช้ทำตามขั้นตอนในบทความ ก็จะสามารถเข้ารหัสวีดีโอที่ตัดต่อและเขียนลงแผ่นเป็น VCD ได้
ในการเข้ารหัสวีดีโอนั้น ให้เลือกใช้โปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่งที่ต้องการ เมื่อได้เป็นไฟล์ .mpg แล้วจึงนำไปเขียนลงแผ่น CD ด้วยโปรแกรม Nero Burning ROM
18 กรกฎาคม 2551